ประเพณีบุญบั้งไฟ
ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นประเพณีหนึ่งของภาคอีสานหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญเดือนหก" เป็นหนึ่งในฮีตสิบสองคองสิบสี่ของชาวอีสาน เป็นช่วงฤดูฝนเข้าสู่การทำนา ตกกล้า หว่าน ไถ เพื่อเป็นการบูชาแถนขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล เหมือนกับการแห่นางแมวของคนภาคกลางประเพณีบุญบั้งไฟ ได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน บุญบั้งไฟเป็นบุญประเพณีที่มีความสำคัญมายาวนาน นอกจากนั้นยังเป็นเครื่องหมายของความสามัคคีและมิตรภาพ และถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นการขอฝนและต่อสู้กับความแห้งแล้ง ถึงแม้ว่าความเชื่อถือด้านเทวดาผู้ซึ่งเป็นเจ้าแห่งฝนในปัจจุบันได้ลดน้อยกว่าในสมัยก่อน แต่ชาวลาวยังคงยึดถือจารีตประเพณี ดั้งเดิมนี้ ด้วยการสืบทอดจากการเตรียมบุญบั้งไฟขึ้นในทุกๆปีก่อนฤดูเก็บเกี่ยว ควบคู่กับการจัดเตรียมบั้งไฟต่างๆของบุญนี้ ประเพณีต่างๆทางศาสนาพุทธ เช่น การสูตรรดน้ำมนต์โดยเจ้าอาวาสวัดยังได้ถูกจัดขึ้นพร้อมๆกัน
บุญบั้งไฟเป็นบุญประเพณีที่มีความหมายว่า ชาวไร่ชาวนา ได้ทำการบูชาขอฝนจากพระยาแถน นอกจากนี้แล้วบุญบั้งไฟยังเป็นวิธีเดียวที่มนุษย์ใช้สื่อสารกับเทวดาเพื่อเป็นการขอฝน
ประวัติความเป็นมาของบุญบั้งไฟ
ตำนานของประเพณีบุญบั้งไฟของคนอีสานผูกพันกับนิทานพื้นบ้านสองเรื่องคือเรื่องท้าวผาแดงนางไอ่ และเรื่องสงครามระหว่างพญาคันคากกับพญาแถน ซึ่งเป็นเรื่องที่กล่าวถึงที่มาของการยิงบั้งไฟในตำนานเรื่องเรื่องสงครามระหว่างพญาคันคากกับพญาแถน เริ่มจากพระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพญาคันคาก (คางคก) อาศัยอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ ครั้งนั้น พญาแถน (เทพวัสสกาลเทพบุตร) เทพผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ผู้ดลบันดาลให้ฝนตก เกิดความไม่พอใจชาวโลกจึงบันดาลให้ฝนไม่ตกเลยตลอด 7 ปี 7 เดือน 7 วัน ชาวเมืองทนไม่ไหวจึงคิดทำสงครามกับพญาแถน แต่สู้พญาแถนกับกองทัพเทวดาไม่ได้ จึงถูกไล่ล่าหนีมาถึงต้นไม้ใหญ่ที่พญาคันคากอาศัยอยู่ ในที่สุดพญาคันคากตกลงใจเป็นจอมทัพของชาวโลกต่อสู้กับพญาแถน พญาคันคากให้พญาปลวกก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงสวรรค์ ให้พญามอดไม้ไปทำลายด้ามอาวุธของทหารและอาวุธพญาแถน และให้พญาผึ้ง ต่อ แตนไปต่อยทหารและพญาแถนฝ่ายเทวดาพ่ายแพ้ พญาแถนจึงให้คำมั่นว่า หากมนุษย์ยิงบั้งไฟขึ้นไปเตือนเมื่อไรจะรีบบันดาลให้ฝนตกลงมาให้ทันทีและถ้ากบเขียดร้องก็ถือเป็นสัญญาณว่าฝนได้ตกลงถึงพื้นแล้ว และเมื่อใดที่ชาวเมืองเล่นว่าวก็เป็นสัญญาณแห่งการหมดสิ้นฤดูฝน พญาแถนก็บันดาลให้ฝนหยุดตก
ส่วนตำนานพื้นบ้านเรื่องผาแดงนางไอ่ มีความโดยย่อ คือ นางไอ่เป็นธิดาพระยาขอมผู้ครองเมืองชะธีตา นางไอ่เป็นสตรีที่มีสิริโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือไปในนครต่างๆ ทั้งโลกมนุษย์และบาดาล มีชายหนุ่มหมายปองจะได้อภิเษกกับนางมากมาย หนึ่งในจำนวนผู้ที่มาหลงรักนางไอ่ มีท้าวผาแดงและท้าวพังคี โอรสสุทโธนาค เจ้าผู้ครองนครบาดาล ท้าวทั้งสองต่างเคยมีความผูกพันกับนางไอ่มาแต่อดีตชาติ จึงต่างช่วงชิงจะได้เคียงคู่กับนาง แต่ก็พลาดหวัง จึงมิได้อภิเษกทั้งคู่เพราะแข่งขันบั้งไฟแพ้ ท้าวพังคีนาคไม่ยอมลดละแปลงกายเป็นกระรอกเผือกคอยติดตามนางไอ่ แต่สุดท้ายถูกฆ่าตาย พญานาคผู้เป็นพ่อจึงขึ้นมาถล่มเมืองล่มไป กลายเป็นหนองน้ำใหญ่คือ หนองหาน
หนองหานในตำนานท้าวผาแดงนางไอ่ ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่าคือที่ไหนกันแน่ เพราะมีอยู่ถึง 3 ที่ ได้แก่
- หนองหาน อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
- หนองหาน อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ซึ่งก็ไม่ไกลจากที่แรกมากนัก
- หนองหาร อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
ประเภทของบั้งไฟ
ประเภทของบั้งไฟ บั้งไฟมี 2 ประเภท
ประเภทที่ 1 ได้แก่ บั้งไฟที่ไม่มีหาง เช่นบั้งไฟพุ บั้งไฟพะเนียง บั้งไฟตะไล บั้งไฟดอกไม้ บั้งไฟโครงขาว บั้งไฟม้า
ประเภทที่ 2 ได้แก่ บั้งไฟที่มีหาง ซึ่งแบ่งเป็น 4 หมวดหมู่ ดังนี้
1. บั้งไฟน้อย เป็นบั้งไฟที่มีขนาดเล็กบั้งไฟชนิดนี้ถูกนำมาใช้เพื่อเสี่ยงทายดูว่าฝนจะตกต้องตาม
ฤดูกาลหรือไม่ ถ้าหากว่าบั้งไฟถูกยิงขึ้นไปสูงสุดหมายถึงฝนจะดี
2. บั้งไฟร้อย เป็นบั้งไฟที่บรรจุดินปืนน้อยกว่า 12 กิโลกรัม ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อการแข่งขัน
3. บั้งไฟหมื่น เป็นบั้งไฟที่บรรจุดินปืนระหว่าง 12 – 119 กิโลกรัม
4. บั้งไฟแสน เป็นบั้งไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งบรรจุดินปืน 120 กิโลกรัมการแห่บั้งไฟ
บั้งไฟตะไล
แสดงความคิดเห็น