บูมท่องเที่ยวเชิงเกษตร "ปากช่อง-วังน้ำเขียว" ททท.โคราชจับมือ 20 สวนผักผลไม้ทัวร์ตลอดปี
ททท.นครราชสีมา ดีเดย์ธันวาฯนี้เปิดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรปากช่อง ดึงคนเที่ยวปากช่องได้ตลอดทั้งปี เตรียมเชื่อมโยง "วังน้ำเขียว" ต่อยอดรูตท่องเที่ยวเกษตรอินทรีย์ ด้านกลุ่ม "สวนผักปากช่อง" รับลูก เตรียมแปลงสตรอว์เบอรี่-จัดตลาดขายสินค้าหน้าฟาร์มรับไฮซีซั่น
นายสุหฤทธิ์ ชาญวนังกูร ผู้อำนวยการสำนักงาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครราชสีมา-ชัยภูมิ เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ททท.สำนักงานนครราชสีมา ได้ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอปากช่อง และเครือข่ายท่องเที่ยวเชิงเกษตรอำเภอปากช่อง ส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรในพื้นที่อำเภอปากช่องและวังน้ำเขียว รวมทั้งชูการส่งเสริมเกษตรชุมชนและแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวมีการทำเกษตรชุมชนจำนวนมาก
ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างแผนที่ไปยังจุดต่าง ๆ เบื้องต้นมีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมแล้วกว่า 10 ราย อาทิ สวนองุ่น สวนดอกหน้าวัว เห็ด ผักคะน้าออร์แกนิกส์ สวนขึ้นฉ่ายและกุยช่ายขนาดใหญ่ พื้นที่กว่า 600 ไร่ ซึ่งหลายรายมีระบบการปลูกและการจัดการที่ดี มีการจัดพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษา หรือบางแห่งก็อยู่ระหว่างการปรับเตรียมพื้นที่บางส่วนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว หรือปรับเป็นพื้นที่สำหรับให้เกษตรกรในกลุ่มนำสินค้ามาวางจำหน่ายด้วย
ทั้งนี้ การส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรดังกล่าวของ ททท.สำนักงานนครราชสีมา เป็นไปตามกลยุทธ์เรื่องสังคม ที่เน้นส่งเสริมเรื่องกรีน โดยมีเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวที่มากับครอบครัว และกลุ่มการเรียนรู้ต่าง ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 ยุทธศาสตร์หลักของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยปี 2558-2559 ประกอบไปด้วย การสร้างการรับรู้ การหารายได้จากกลุ่มศักยภาพ 4 กลุ่ม การแบ่งปันพื้นที่และเวลา และกลยุทธ์เรื่องสังคม
นางภาวนา ประจิตต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานนครราชสีมา-ชัยภูมิ กล่าวว่า สำนักงานเกษตรอำเภอปากช่องจะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลจากไร่ต่าง ๆ ทั้งไร่ผัก ผลไม้ ส่วน ททท.นครราชสีมาจะจัดทำแผนที่เส้นทางให้ และเตรียมเชื่อมต่อกับเส้นทางกับอำเภอวังน้ำเขียว โดยเส้นทางดังกล่าวนี้จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคมนี้ ไปจนถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงฤดูไฮซีซั่นของการปลูกผักที่แต่ละแห่งจะมีผลผลิตออกมามาก
ทั้งนี้ ไร่ผักผลไม้แต่ละแห่งจะอยู่ในเส้นทางที่มีศักยภาพ พร้อมรองรับการท่องเที่ยวได้ โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมทั้งที่พัก ร้านอาหาร การเดินทางที่ใกล้ อีกทั้งค่าใช้จ่ายยังจะน้อยกว่าการไปท่องเที่ยวในแหล่งธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ก็มีความสวยงามและผลผลิตก็มีคุณภาพเช่นกัน โดยเฉพาะในฤดูการท่องเที่ยวซึ่งเป็นไฮซีซั่นจะมีความอุดมสมบูรณ์และสวยงามมาก ทั้งองุ่น สตรอว์เบอรี่ และผักต่าง ๆ หรือในช่วงเดือนอื่น ๆ ก็จะเป็นผัก/ผลไม้ตามฤดูกาล เช่น สวนทุเรียนมีทั้งพันธุ์หมอนทอง ก้านยาว ชะนี ผักและเห็ดชนิดต่าง ๆ ที่เป็นออร์แกนิกส์จริง ๆ
ด้านนายอุดมพล วงศ์ศักดา เลขานุการเครือข่ายท่องเที่ยวเชิงเกษตร อำเภอปากช่อง ผู้จัดการส่วนธุรกิจท่องเที่ยว สวนผักปากช่อง ซึ่งเป็นฟาร์มผักส่งออกขนาดใหญ่ (ผักกุยช่ายเขียว-ขาว, ขึ้นฉ่าย) ในพื้นที่ตำบลคลองม่วง อำเภอปากช่อง กล่าวว่า ในเส้นทางนี้มีไร่หรือสวนผัก/ผลไม้กว่า 20 แห่งที่สามารถเปิดให้เข้าชมและเชื่อมโยงกันได้ ซึ่งที่ผ่านมานักท่องเที่ยวส่วนใหญ่รู้จักปากช่องเพียงแค่เขาใหญ่ ปาลิโอ้ หรือรีสอร์ตต่าง ๆ แต่แทบไม่รู้ว่ามีเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบนี้อยู่ด้วย จึงต้องการพัฒนาเส้นทางดังกล่าวคู่ไปกับย่านถนนธนะรัชต์-เขาใหญ่ และให้เชื่อมต่อกับอำเภอวังน้ำเขียว เพื่อสร้างทางเลือกการท่องเที่ยวใหม่ ๆ ให้นักท่องเที่ยว
สำหรับฟาร์ม 20 แห่งนี้มีทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ซึ่งถือเป็นการเข้ามาเติมเต็มซึ่งกันและกัน นับเป็นเสน่ห์อีกด้านที่ทำให้นักท่องเที่ยวได้มาเห็นความแตกต่าง เพราะหากทุกแห่งเป็นฟาร์มใหญ่ทั้งหมดก็จะมีลักษณะไม่แตกต่างกัน โดยบางสวนอาจเป็นการให้มาสัมผัสวิถีเกษตร เจ้าของสวนเปิดบ้านต้อนรับ ไม่ถึงขนาดท่องเที่ยว เน้นจะสร้างจุดขายให้สวนของเขาด้วยวิถีความเป็นตัวตนของเขาเอง ไม่เน้นกลุ่มลูกค้าระดับบนที่เน้นการบริการเป็นหลัก
"ในส่วนของสวนผักปากช่องนั้น ที่ผ่านมาก็มีเกษตรกรและคณะต่าง ๆ มาศึกษาดูงานบ้างอยู่แล้ว โดยสำหรับการปรับให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวนั้น ได้เตรียมจัดพื้นที่ด้านหน้าของสวนจำนวน 2 แปลง เพื่อปลูกแปลงสตรอว์เบอรี่และมะนาวในรูปแบบการโชว์ จะเปิดตัวราววันที่ 4 ธันวาคมนี้ และให้บริการเต็มตัวในช่วงปลายปี แต่จะไม่ใช่หว่านเงินทำโชว์อย่างเดียว ต้องเป็นพืชที่ปลูกโชว์แล้วสามารถหมุนเวียนออกขายในตลาดได้ด้วย และมีผลผลิตขายปลีกให้นักท่องเที่ยวซื้อติดไม้ติดมือกลับไป อย่างไรก็ตามนอกจากเราแล้ว ในเส้นทางท่องเที่ยวนี้ก็ยังมีสวนสตรอว์เบอรี่อื่น ๆ ที่คนปากช่องปลูกเอง ทำเอง และมีคุณภาพอีกหลายแห่ง" นายอุดมพลกล่าว
นอกจากนี้ ทางสวนผักปากช่องยังมีแผนเชื่อมโยงพื้นที่ท่องเที่ยวด้านหน้าเข้ากับพื้นที่ปลูกพืชอื่นด้านในที่มีอีกกว่า600-800ไร่ด้วยโดยผลผลิตที่เป็นตัวหลักของสวนผักปากช่องคือกุยช่าย ซึ่งมีพื้นที่ปลูกที่ใหญ่ที่สุด และมีออร์เดอร์เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ มีพื้นที่ปลูก 600-800 ไร่ หมุนเวียนกันไป รวมทั้งการปลูกผักขึ้นฉ่ายในน้ำโดยไม่ต้องใช้ดินแบบกึ่งไฮโดรโปนิก ซึ่งมีเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย
แสดงความคิดเห็น